มา Fail-Fast น้องๆ Designer กันเถอะ
บ่อยครั้งที่เราต้องแก้ปัญหางานชนตอ เพราะรอ Perfectionist
ถึงน้องรุ่นใหม่ไฟแรงทุกคน
ไม่น่าจะปฏิเสธได้ ว่ายุคสมัยแห่งการ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ซาลงไปมากตามปริมาณออฟฟิศของคนรุ่นใหม่ที่ผุดเป็นดอกเห็ด
เมื่อวันเวลาเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดในแวดวงดีไซน์ ก็คงจะเป็นเรื่องการทำงาน
เอาแบบเห็นกันง่ายๆ ก็เรื่องชื่อตำแหน่งงานดีไซน์นี่แล ที่เริ่มแตกกิ่งก้านสาขาแยกออกไปตามความถนัดและรายละเอียดของงาน
จากแต่ก่อนที่เราโดนเหมาเข่งว่าเป็น “Designer” (ที่ชื่อเจ้ากรรมก็ดันไปพ้องกับอาชีพแนวสถาปัตย์ฯ — อ่านใบสมัครอยู่ 15 นาทีกว่าจะรู้ตัวว่าบริษัทนี้มันรับตกแต่งภายในนี่หว่า)
ช่วงนี้แวะเวียนไปหน้ารับสมัครงานตามเว็บไซต์ต่างๆ รู้ตัวอีกทีก็ถูกแตกหมู่แยกพวกขึ้นมาเป็นสาย Offline, Online, Web Designer, UI/UX Design, Copywriter, Visual Designer, Interaction Designer ฯลฯ ซะแล้ว
เห็นแล้วก็น่าชื่นใจแทนดีไซเนอร์รุ่นใหม่จริงๆ ที่ไม่ต้องมานั่งเป็นพนักงานจับฉ่าย ที่ลูกค้าอยากได้อะไรก็ต้องไปจัดหามาให้ (คือกูทำ Motion ไม่เป็นก็เรียกจังเลยเฮ้ย 555)
แต่ด้วยความที่เด็กรุ่นใหม่ ก็ยังคงเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่ความคิดความอ่านไม่ตรงกับผู้ใหญ่รุ่นแก่ (โทษครับ จะพิมพ์ว่าเก่า) อยู่ดีวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ทำให้บ่อยครั้งที่เกิด Generation Gap หรือช่องว่างที่เราไม่เข้าใจกัน เช่น
- พี่หัวหน้าจ่ายงานให้เรา ตอนเย็นชะโงกหน้ามาดู ก็เจอหน้าเปล่า ตอนเช้าแวบมาถาม ก็ยังคงเป็นหน้าจอโล่งๆ
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำ Decision Making หรือออกไอเดียต่างๆ ในการประชุม ก็อดไม่ได้ที่จะต้องคิดในใจเสมอว่า “คิดออกมากันได้ยังไง ขนาดแค่ฟังตอนแรก ติดปัญหาตรงนู้น ผิดตรงนี้ ไม่เห็นมีอะไรใช้ได้จริงเลย”
- หรือแม้แต่เวลาต้องการไอเดียอย่างเร่งด่วน (เช่น การ Brainstorm หรือการตรวจ Design) ก็มักจะคิดแย้ง (หรือบางคนถึงกับแย้งออกมา) กับคนออกไอเดียที่ดูทึ่มๆ หรือพูดออกมาให้รู้สึกว่าแค่ได้พูด
เอาจริงๆ แล้ว หรือว่าน้องจะมีความเป็น Perfectionist อยู่ในตัวจนเกินพอดี?
น้องไม่ได้เป็น Perfectionist หรอก ชีวิตน้องชุ่ยจะตาย
หลายคนอาจบอกตัวเองไว้อย่างนี้ เพราะทั้งๆ ที่เวลาใช้ชีวิตปกติ ก็โคตรจะไม่เนี้ยบ ข้าวของก็กระจายเต็มกระเป๋า เสื้อผ้าก็แขวนไว้ตามเก้าอี้ตามตู้ในห้อง โต๊ะทำงานก็รกจนไม่มีที่ให้ปลวกเดิน แต่ทำไมพี่ๆ ถึงชอบบ่นว่าเราเป็น Perfectionist?
มีแบบทดสอบมาให้ลองอ่านกันเล่นๆ ว่าวิธีการทำงานของคุณ เข้าข่ายความเป็น Perfectionist รึเปล่า:
- เมื่อได้งานมา ต่อให้เนื้องานคล้ายๆ งานที่เคยทำ แต่สิ่งแรกเมื่อกลับมานั่งโต๊ะ คือเปิดเว็บหา Reference
- ถ้างานยังไม่เสร็จ จะนั่งไม่พูดไม่จากะใคร
- ทำไม่เป็น แต่ไม่กล้าถามใคร เพราะกลัวเขาไม่ว่างมาตอบ + กลัวโชว์โง่
- ระหว่างทำงาน การมีคนมานั่งมองจอ คือความหงุดหงิดระดับ 5
- ถ้ามาออกความเห็นงานที่ยังทำไม่เสร็จอีก “ทำไมสีมันไม่สวยเลย” “ทำไมกล่องใหญ่จัง” “ไม่ทำแบบพี่ xxx ล่ะ” คือความปรี๊ดระดับ 10
- เวลาเห็นงานคนอื่น ชอบคิดในใจว่า “ถ้างานนี้ให้เราทำ ต้องทำให้เนี้ยบกว่านี้ ดูดิ เบี้ยวก็เบี้ยว สีก็ไม่ตรง โอ้ย”
- ไม่เคยพอใจกับงานตามเวลา มักจะแสดงออกทางสีหน้าท่าทางหรือในคำพูดทุกครั้ง ว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่เราคิดภาพไว้ในหัวนะ
- ที่งานไม่สวยเพราะระหว่างทำมัวไปนั่งจัด Text ขยับไปมา ลองเปลี่ยนทุกสีที่แบรนด์กำหนดให้ เพื่อดูว่ามันคือสีที่ใช่รึเปล่า หรือแม้แต่นั่งจ้องงานตัวเอง แล้ววนกลับไปแก้ส่วนที่แล้วใหม่
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเรามีมากกว่า 3 ข้อ ให้พึงสังวรณ์ไว้เลยว่าเจ้าได้ติดโรค Perfectionism ระยะเริ่มต้นเข้าให้แล้ว
แล้วมันไม่ดีหรอ ก็งานน้องออกมาสวยมากเลยนะ
ในแง่ของการทำงาน ต้องมาว่ากันด้วยตัว Process และผู้มีส่วนร่วมของการทำงานก่อน อย่าลืมว่าในโลกของการทำงาน บทบาทที่จะได้เลือกใช้ มีวนเวียนอยู่แค่สี่ประเภทใหญ่ๆ
- เป็นคนคิด (ไม่ได้ทำ — คนอื่นในทีมทำ)
- เป็นคนทำ (ไม่ได้ช่วยคิด — ว่าไงก็ทำตามนั้น)
- เป็นคนร่วมคิดและร่วมทำ (เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในโปรเจกต์นั้นๆ)
- เป็นส่วนเกิน ไม่ได้ทำ และไม่ได้ช่วยคิด ไปนั่งให้ห้องประชุมดูเต็มตื้นขึ้นมาเฉยๆ
รู้หมือไร่~ สี่บทบาทนี้ ไม่สามารถปฏิบัติตัวเหมือนๆ กันทุกแบบได้
วันที่เราเป็นแค่คนคิด (เช่นการออกไอเดียหรือการเข้าร่วมประชุม) บทบาทของเราและสิ่งที่เราต้องทำ ก็ย่อมไม่เหมือนวันที่เราทั้งออกไอเดีย ทั้งรวบรวมความคิดไปปฏิบัติจริง
ขณะเดียวกันก็ยิ่งไม่เหมือนกับวันที่เรานั่งในห้องประชุม โดยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเราเลยเช่นกัน
เอ แล้วอะไรกันน้า ที่ทำให้เรากลายเป็น Perfectionist?
นิสัยที่สืบทอดมาจากระบบการศึกษา
ในขณะที่เราทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด ก็ไม่ใช่การทำงานแบบเดียวกับการทำโปรเจกต์มหาลัยฯ ที่งานทั้งหมดจบลงเพียงแค่ “ส่งอาจารย์”
เชื่อว่าอาจารย์หลายท่านมักจะประสบกับเหตุการณ์ “ส่งวินาทีสุดท้าย” อยู่เป็นประจำ จนทำให้ต้องมานั่งตรวจงานในวันปิดภาคเรียน หรือแม้แต่ออกมาตรการป้องกันเช่นการกำหนด “Deadline หลอกๆ” เพื่อให้เด็กส่งงานได้ทันตามเวลาที่กำหนด
สิ่งเหล่านี้ เมื่อถูกให้อภัยโดยอาจารย์ผู้ดูแล และมองเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียน เมื่อข้ามผ่านมายังวัยทำงาน ก็กลายเป็นข้อเสียและเรื่องธรรมดาที่ดันไปส่งผลกระทบกับ “เวลา” ของหลายๆ คน
ในการทำงานโปรเจกต์ของบริษัทนั้น เวลาที่จำกัดหมายถึงการทำงานที่มีการวางกำหนดการส่งต่องานไว้ร่วมกันระหว่างทีม เป็นงานที่ต้องการข้ามผ่านไปยังฝ่ายอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ — ก็ต้องส่งให้ลูกค้าดู พอลูกค้าตรวจแล้ว ก็ต้องส่งมอบไปให้ Developer หรือโยนข้ามไปให้ฝ่ายอื่นทำการซื้อสื่อโฆษณา โพสต์ลง Facebook ต่อไป และอีกมากมาย แล้วแต่ Process การทำงาน
ถ้างานทั้งหมดมาชะงักเพราะเราหรือคนในทีมไม่สามารถจัดการกับงานให้เหมาะสมกับเวลาได้ ทีมก็คงจะเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้
งานที่ควรจะจบได้ในเวลาที่ทีมอื่นต้องการ หากหัวหน้างานไม่สามารถแบ่งเวลาเพื่อมาแก้ไขงานต่างๆ ที่หลุด Timeline ได้ ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีทางเลือก
ทำให้เวลาที่จัดเผื่อไว้ของทีมอื่นๆ ถูกเลื่อนออกไปอีก ยิ่งถ้ามีการรับมือหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปจนหมดทางเลือกแล้ว ก็อาจจะลงเอยด้วยการอยู่ดึกหรือ Overwork ของบางคนแทน
เรียกว่าเป็น Cascade Failure ในการบริหารงานดีๆ นี่แหละ พังกันตั้งแต่คนจัดตาราง ยันแม่บ้านที่ต้องมานั่งรอปิดออฟฟิศกันเลยก็ว่าได้
พอรีบทำ ก็โดนบ่นว่าทำงานไม่ได้ตามที่คาดหวัง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอจะเดาได้ว่าประโยคด้านบนน่าจะสวนกลับมาเป็นประโยคแรก
หลังจากที่ไปศึกษาดูบทความหลายชิ้นของฝรั่งเรื่องการทำงานแบบ Fail-fast ที่ว่าด้วยการทำงานในตลาด Digital สมัยใหม่
ซึ่งก็เต็มไปด้วยการทำงานแบบไม่มีคำตอบตายตัว (No definite answer) และพัฒนาตัวงานด้วยการลองผิดลองถูกแบบผิดเร็วแก้เร็ว เป็นที่มาของคำว่า Fail-Fast
ที่น่าสนใจ คือการทำงานแบบ Fail-Fast ไม่ได้ว่าด้วยการปรับปรุงความคิดลูกน้อง
แต่กลับเริ่มด้วยการปรับปรุง Mindset การทำงานของหัวหน้า ดังต่อไปนี้
- สร้างโจทย์การส่งงานที่เน้นเร็วไม่เน้นสวย
- สนับสนุนการทำงานแบบช่วยเหลือตนเอง
- กระตุ้นการติเพื่อก่อ
- ให้ทีมล้มบนฟูก ก่อนวิ่งบนปูน
สร้างโจทย์การส่งงานที่เน้นเร็วไม่เน้นสวย
การทำงานที่มีจุดประสงค์ให้เน้นความรวดเร็ว จะช่วยกระตุ้นให้ลูกทีมเกิดความรู้สึกท้าทาย และกล้าได้กล้าเสียมากขึ้น เพราะเวลาที่น้อยลง จะไปสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาและการเอาตัวรอดของคน การทำงานที่มีเวลาจำกัดจะเป็นการบังคับกลายๆ ให้เรามองข้ามจุดบกพร่องของตัวงาน และหันไปโฟกัสกับจุดเด่นที่เรามั่นใจในตัวเองมากที่สุด
ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่จ่ายงานเอง ก็ต้องคำนึงถึงระยะเวลาไม่ให้สั้นจน Panic หรือนานจนคิดเยอะเอาไว้ด้วย
เพราะถ้าสั่งแบบสักแต่ว่าจะให้ปั่น เอาเร็วเข้าว่า ก็มีแต่จะเพิ่มแรงกดดันในการทำงานให้ลูกทีมพากันเครียดโดยเปล่าประโยชน์
สนับสนุนการทำงานแบบช่วยเหลือตนเอง
การตรวจงานในการทำงานแบบ Fail-Fast ไม่ใช่เพื่อจบกระบวนการทำงาน หรือฟันธงงานดีไซน์เสมอไป
เพราะในข้อบกพร่องต่างๆ ที่ทีมมองเห็น สามารถเอาไปใช้เป็นการต่อยอดหรือแก้ปัญหาในภายหลังได้การทำงานแบบเห็นข้อบกพร่องชัดเจนตั้งแต่ตอนยังไม่ส่ง จะทำให้น้องในทีมไม่กลัวการถูกวิจารณ์ และมองว่าการทำผิด ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และสามารถแก้ไขให้ถูกได้
การแก้ไขปัญหาโดยการฟังความคิดเห็นจากคนอื่น ก็เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และทำให้ได้ไอเดียดีๆ จากคนที่เคยเจอปัญหาเดียวกันมาก่อน จนบางครั้ง การแก้ปัญหาบางเรื่อง อาจจะมาจากไอเดียของน้องในทีมล้วนๆ ไม่มีหัวหน้ามาช่วยเหลือเลยก็เป็นได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น น้องในทีมลืมเปลี่ยน Icon ของแอพฯ ให้เหมือนกันและขนาดเท่ากันทุกหน้า
การได้รับรู้ปัญหาและแนะนำทางแก้ไข อาจจะนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานของทั้งทีม เช่น เริ่มใช้งานระบบ Symbol หรือ Design Guideline ในแบบที่สมาชิก Senior ในทีมบางคนไม่เคยรู้มาก่อน
เมื่อความผิดพลาดทำให้ลูกทีมเห็นปัญหาและทางแก้ไขจากการทำงานจริง ก็เกิดความอยากนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาจริงๆ (จะช่วยได้จริงมั้ย, ทำให้งานเร็วขึ้นจริงรึเปล่า ฯลฯ)
ได้ผลดีกว่าการให้หัวหน้าคิดอยู่คนเดียว คือให้มาช่วยกันแก้ ช่วยกันทดลองใช้ Solution นี้ ให้เกิดการใช้งานจริง และปรับปรุง Solution ให้ตอบโจทย์กับปัญหายิ่งขึ้น
กระตุ้นการติเพื่อก่อ
เนื่องจากการทำงาน Fail-Fast เป็นงานที่ต้องเสียสละเวลาตรวจและแนะนำจากหัวหน้างานค่อนข้างมาก (ช่วงแรกและช่วงกลางๆ ของการสอนงาน) การนำให้ทีมเกิดการ Collaboration ร่วมคิด ร่วมวิจารณ์ ร่วมกันหาวิธีแก้ไข จะทำให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนด้านบวกภายในทีม (กล่าวคือ ไม่ใช่การไปแอบนินทา หรือการพูดลับหลังโดยไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาใดๆ) อาจรวมไปถึงการกระตุ้นให้เขาเข้าใจในการทำงานที่ว่า “การทำแล้วช่วยกันหาจุดที่ต้องแก้ เสียเวลาน้อยกว่าการทำรอบเดียวให้ไม่มีข้อผิด”
ซึ่งการเปิดโอกาสให้ทีมวิจารณ์กันเอง ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้เขาอวยเขาบ่นกันเองตามใจชอบ หัวหน้าทีมเองเมื่อเห็นว่าการสนทนาเริ่มไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ แต่เริ่มเข้าข่ายความชื่นชอบหรือ Sense ส่วนตัวของลูกทีม ก็ควรจะต้องรู้สึกได้และพยายามต้อนบทสนทนากลับเข้าฝั่ง เพื่อให้เขาเข้าใจกาลเทศะของการ Meeting ร่วมกับ Stakeholder กลุ่มอื่นๆ ในภายภาคหน้า
ให้ทีมล้มบนฟูก ก่อนวิ่งบนปูน
การทำงานแบบผิดเร็วแก้เร็ว ที่ส่งเสริมให้ลูกทีมล้มก่อนจะรู้วิธีวิ่ง จำต้องประกอบไปด้วยจิตวิทยาและการนำขั้นเทพจากหัวหน้า
เพราะเราถูกปลูกฝังอยู่ในหัวให้เป็นผู้ถูก ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด การทำผิดแล้วรอคนอื่นมาอธิบาย เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่เคยถูกบรรจุอยู่ในสารบบการศึกษาเด็กไทย
ห้ามเล่นน้ำในบ่อปลานะ ไม่งั้นถูกตี
ใส่เสื้อนอกกางเกงไม่ได้นะ ต้องแต่งตัวตามระเบียบ
อย่าตอบผิดนะ ถ้าอยากเข้าโรงเรียนดีๆ
ทุกข้อกำหนดมีไว้เพื่อทำโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่เป็นการรักษาระเบียบหรือกลไกบางอย่างของสังคม
การละทิ้งซึ่งแนวคิดดั้งเดิม แล้วเปิดให้ทุกคนกล้าทำ กล้าคิด กล้า “ล้ม” หัวกระแทกพื้นโดยไม่อาย
จำเป็นต้องมีฟูกชั้นดี หรือก็คือหัวหน้าทีม ที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และช่วยส่งเสริมให้ลูกทีม มี Mindset การทำงานแบบติเพื่อก่อ (Constructive Criticism) เพื่อให้ทีมสามารถวิ่งและล้มบนพื้นปูนได้อย่างไม่กลัวเจ็บ ในสนามการทำงาน
อย่างที่ Thomas Edison เคยว่าไว้นั่นแหละครับ
‘I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work’
‘ฉันไม่ได้ผิดพลาด ฉันแค่ค้นพบ 10,000 วิธีที่ใช้การไม่ได้’
ดีทุกอย่างเลยอะ เริ่มใช้พรุ่งนี้เลยมั้ย!
ช้าก่อน! หลังจากร่ายประโยชน์มาเสียยาว ต้องยอมรับกันก่อนว่า ไม่มีวิธีใดในโลกที่ดี 100% ก็อย่างที่ตัวใจความของ Fail-Fast ว่าไว้นั่นแหละครับ “วิธีการอะไรที่คิด มันไม่ได้สมบูรณ์เสมอไป”
ก็เลยอยากให้ลองดูข้อจำกัดของการทำงานแบบ Fail-Fast ดูก่อน ว่าส่งผลเสียอะไรกับทีมบ้าง
อย่างที่ผมเคยลองการทำงานแบบ Fail-Fast กับทีมดีไซน์ ถ้าจะให้ลิสต์ปัญหาออกมาเร็วๆ จริงๆ ก็มีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น
- ลดความมั่นใจตัวเองภายในทีม
- ส่งต่องานลำบาก
- ความผันผวนของดีไซน์
- ต้องเข้าใจตรงกัน
ลดความมั่นใจตัวเองภายในทีม
เพราะด้วยความที่งานเราจะไม่มีวันสมบูรณ์นี่เอง น้องๆ บางคนที่ไม่สามารถปรับตัวกับแนวคิดนี้ได้ ก็จะเกิดอาการกดดันตัวเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมงานของเขา “ถูกแก้” เยอะกว่าเพื่อน พอเกิดการเปรียบเทียบ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกกดดันตัวเอง ว่าไม่เก่งเท่าคนอื่นๆ
ส่งต่องานลำบาก
เนื่องจากตัวงานที่หมุนวนแก้อยู่หลายต่อหลายครั้ง ทำให้บางทีภาพรวมหรือ Business Rule บางส่วนถูกละเลยหรือถูกลืม (จากการปรับแก้งานถี่ๆ) การแก้ปัญหากันเอง อาจจะมี Solution บางอย่าง ที่ไปสร้างปัญหาให้ทีมอื่นแทนก็เป็นได้
ความผันผวนของดีไซน์
ภาษาปะกิดว่า Fluctuation ในแง่การดีไซน์ก็เรียกกันภาษาบ้านๆ ว่า “ปั่นจนตัน” นั่นแหละครับ
เพราะด้วยธรรมชาติของ Fail-Fast นี่แหละ ที่มักทำให้บรีฟการทำงานคาดเดาไม่ได้ คือถ้าทำบ่อยๆ ก็อาจจะเข้าใจได้ว่าจะแก้ตรงไหน แต่จะแก้ “อย่างไร” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่ผลักภาระไปให้ผู้แก้แบบไม่รู้ตัว
เช่น รู้ว่าหน้านี้มีปัญหาเรื่อง Navigation แน่ๆ แต่ไม่สามารถสรุปเป็น Solution ได้ ในเวลาที่ควรจะตัดสินใจ
ถ้าคิดอะไรกันไม่ออกเลย ตันละ ยังไงสุดท้าย คนที่กดดันที่สุด เพราะต้องไปหาทางแก้มาให้ได้ ก็คือคนที่เป็นหัวหน้างาน / โปรเจกต์นั้นๆ นี่แหละ ที่รับภาระต้องไปคิดหาทางแก้มาให้จงได้
เรียกว่า ต้องใช้ความสามารถของหัวหน้าถึงขีดสุดจริงๆ
ต้องเข้าใจตรงกัน
วิธี Fail-Fast อาจไม่เหมาะกับคนที่คิดว่าตนเองรอบคอบและตรงเวลาแล้ว
เพราะการทำงานแบบช่วยกันติ จะไม่สร้างให้เกิดตัวงานใหม่ๆ เลย ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดการ Meeting คือการปกป้องตัวเอง จากคนทำงานหัวเก่าๆ ที่คิดว่างานตนเองดีและถูกต้องที่สุดแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมการทำงาน คือการอยู่ร่วมกันระหว่าง Generation เก่า-ใหม่ ที่มองการกระทำบางอย่างไม่เหมือนกัน
บางทีการที่เราไปวิจารณ์งานของ Senior แบบตรงไปตรงมา อาจทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี การรักษา Balance การวิจารณ์ ให้อยู่ในทิศทางที่ Positive ตลอดเวลา
ต้องอาศัยความเชื่อใจจากลูกทีมทุกคน และทำให้เกิดจริงได้ยาก ถ้าในทีมมีการหมุนเวียนผู้ทำงานหรือหัวหน้าทีมอยู่ตลอดเวลา
คนเราร้อยพ่อพันแม่ บางทีอีโก้ดีไซเนอร์บางคน ก็ไม่ได้ลดกันง่ายๆ ขนาดชั่วข้ามคืนเสียเมื่อไหร่
สรุป
ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่แนะนำให้หัวหน้าทั้งหลายลองเอาไปปรับใช้กันดู (จ่าหน้าถึงน้องใหม่ แต่ฝากให้หัวหน้าอ่าน นี่สินะ Marketing กินรวบหัวรวบหาง 555)
เพราะตัววิธีการเอง จริงๆ แล้วก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้กับการทำงานแบบ Rapid development หรือพวก Agile ในวงการ Tech, Startup เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาใช้กับ Gen ที่ชอบการทำงานแบบเรียนรู้เยอะๆ อาจได้ผลดีเกินคาดก็ได้
ความร่วมมือจากฝ่ายผู้ควบคุมงาน และผู้สอนงาน สำคัญมากๆ
เพราะถ้าไม่ช่วยกันทุกฝ่าย แล้วปรับใช้ให้เข้ากับทีมและขั้นตอนการทำงาน แต่เอาไปใช้ทื่อๆ เป็นคำเท่ๆ ให้ทีมอื่นว้าวเฉยๆ
ก็คง Fail-Fast ชนิดที่แปลว่าล้มเหลว (แบบลุกไม่ขึ้น) กันอย่างว่องไว เห็นผลชัดแจ้งในโปรเจกต์เดียวเป็นแน่แท้ 555+